Friday, July 19, 2013

วันสารทไทย


สารท เป็นการทำบุญกลางปีของไทยตรงกับ วันสิ้นเดือน 10 หรือ วันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ซึ่งมักจะตกราวๆ ปลายเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม เป็นฤดูที่พืชพันธุ์ธัญชาติและผลไม้สุก ข้าวและต้นผลไม้ที่ปลูกไว้กำลังให้ผลเป็นครั้งแรกในฤดูนี้
หนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือนได้กล่าวไว้ ว่า “ สารท ” ซึ่งเป็นนักขัตฤกษ์ ( งานรื่นเริงตามธรรมเนียมตามฤดูกาล ) เป็นที่นิยมของคนทั้งปวงทั่วไปว่าเป็นสมัยที่ได้ทำบุญ เมื่อปีเดือนวันคืนล่วงมาถึงกึ่งกลางรอบ ด้วยเหตุว่า เราถือเอากำหนด พระอาทิตย์ลงไปที่สุดทางใต้ กลับมาเหนือถึงกึ่งกลางปีเป็นต้นปี ครั้นเมื่อพระอาทิตย์ขึ้นไปเหนือจนสุดทางจะกลับลงใต้ มาถึงกึ่งกลางก็เป็นพอบรรจบ กึ่งกลางปี พูดง่ายๆก็คือ วันสารทไทย ถือเป็นวันทำบุญกลางปี ด้วยว่าสมัยก่อนเราถือเอาวันสงกรานต์ ซึ่งอยู่ในช่วงเดือนเมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ ดังนั้นช่วงเดือนสิบ จึงตกราวกลางปีพอดี คนทั่วไปจึงนิยมทำบุญเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต เสมือนเป็นการเตือนใจตัวเองว่า ชีวิตได้ดำเนินผ่านมาถึงกึ่งปีแล้ว ชีวิตข้างหน้าที่เหลือควรจะได้สร้างบุญกุศลไว้เพื่อความไม่ประมาท ซึ่งนอกจากการทำบุญดังกล่าวแล้ว ยังมีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้แก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับอีกด้วย
พระยาอนุมานราชธน ได้เขียนเล่าในหนังสือเทศกาลและประเพณีไทยว่า คำว่า “ สารท ” เป็นคำอินเดีย หมายถึง “ ฤดู ” ตรงกับฤดูในภาษาอังกฤษที่เรียกว่า “ ออตอม ” อันแปลว่า ฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งจะมีเฉพาะบางเขตของโลกอย่างยุโรป จีน และอินเดียตอนเหนือเท่านั้น ช่วงนั้นเป็นระยะที่พืชพันธุ์ธัญชาติและผลไม้เริ่มสุก และให้พืชผลครั้งแรกในฤดู ดังนั้น ประชาชนจึงรู้สึกยินดี และถือเป็นเทศกาลแห่งความรื่นเริง จึงมักทำพิธีตามความเชื่อและเลี้ยงดูกันอย่างที่เรียกว่า “Seasonal Festival” โดยบางแห่งก็จะมีการนำพืชผลที่เก็บเกี่ยวได้ครั้งแรกที่เรียกว่า “ ผลแรกได้ ” นี้ไปสังเวยหรือบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนนับถือ เพื่อความเป็นสิริมงคล และแสดงความเคารพที่ท่านช่วยบันดาลให้พืชพันธุ์ธัญหารอุดมสมบูรณ์จนเก็บเกี่ยวได้ เช่น พิธีปงคัล ในอินเดียตอนใต้ ที่มีพิธีต้มข้าวกับน้ำนมทำเป็นขนม เรียกว่า ข้าวทิพย์ข้าวปายาสถวายพระคเณศ เป็นต้น
ความเป็นมา
สารทเดือนสิบ อันหมายถึง การทำบุญเดือนสิบ หรือ วันสารทไทย ของเรานั้น พระยาอนุมานราชธนได้สันนิษฐานว่า น่าจะนำมาจากคติของอินเดีย เกี่ยวกับความเชื่อเรื่อง ผลแรกได้ อย่างที่กล่าวข้างต้นเช่นกัน แต่ช่วงเก็บเกี่ยวข้าวในฤดู สารทหรือช่วงฤดูใบไม้ร่วงของบางประเทศที่ว่า จะตกอยู่ในราว ๆ เดือน ๑๐ ทางจันทรคติของไทย ซึ่งโดยความจริงข้าวของเราจะยังไม่สุก มีเพียงผลไม้บางชนิดเท่านั้นที่สุก ครั้นเรารับความเชื่อนี้มา จึงมีปรับเปลี่ยนใช้ข้าวเก่าทำเป็นข้าวเม่า ผสมกับถั่ว งาและสิ่งอื่นกลายเป็น ขนมกระยาสารท ขึ้นมา ซึ่งเมื่อแรกๆก็คงมีการนำไปสังเวยเทวดา และผีสางต่างๆตามความเชื่อดั้งเดิมด้วย ต่อมา เมื่อเรานับถือศาสนาพุทธ จึงได้เปลี่ยนมาเป็นการทำบุญถวายพระ และมักมีการกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลแด่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับตามความเชื่อเดิมที่ว่าหากไม่ ได้ทำบุญตักบาตรกระยาสารท ผีปู่ย่าตายายจะได้รับความเดือนร้อนอดๆอยากๆ เท่ากับลูกหลานไม่กตัญญู นอกจากนี้ ระยะเวลาดังกล่าว ยังเป็น ช่วงกล้วยไข่สุกพอดี จึงมักถวายไปพร้อม ๆ กัน การทำบุญเดือนสิบนี้มีในหลายภูมิภาค เช่น ทางอีสาน เรียกว่า บุญข้าวสาก หรือสลากภัต เป็นหนึ่งในฮีตสิบสอง อันเป็นการทำบุญอุทิศให้ผู้ตายหรือเปรต โดยข้าวสากจะทำด้วยข้าวเม่า ข้าวพอง ข้าวตอกคลุกเข้ากันผสมกับน้ำตาล น้ำอ้อย ถั่ว งา มะพร้าวคล้ายๆกระยาสารทของภาคกลาง โดยมักจะทำราวกลางเดือนสิบ ห่างจากการทำบุญข้าวประดับดิน ที่ทำในช่วงสิ้นเดือน 9
พิธีสารทนอกจากเป็นประเพณีของชนชาวไทยทั่วไปแล้วในส่วนของพระมหากษัตริย์ที่เรียกว่าพิธีของหลวงนั้นในสมัยสุโขทัย มีในตำนานนางนพมาศว่า
” …ราชบุรุษชาวพนักงานตกแต่งโรงพิธีในพระราชนิเวศน์ ตั้งก้อนเส้าเตาเพลิงแลสัมภาระเครื่องใช้เบ็ดเสร็จ นายนักการระหารหลวงก็เก็บเกี่ยวครรภสาลีและรวงข้าวมาตากตำเป็นข้าวเม่า ข้าวตอกส่งต่อมณเฑียรวังเวรเครื่อง นายพระโคก็รีดน้ำขีรารสมาส่งดุจเดียวกันครั้งได้ฤกษ์รับสั่งให้จ่าชาวเวรเครื่องทั้งมวลตกแต่งปรุงมธุปายาส ปรุงปนระดมเจือล้วนแต่โอชารส มีขัณฑสกร น้ำผึ้ง น้ำอ้อย น้ำตาล นมสด เป็นต้น ใส่ลงในภาชนะซึ่งตั้งบนเตาเพลิงจึงให้สาวสำอางกวนมธุปายาสโดยสังเขป ชาวดุริยางค์ดนตรีก็ประโคมพิณพาทย์ ฆ้อง กลอง เล่นการมหรสพ ระเบงระบำล้วนแต่นารี แล้วพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยราชบริพารนำข้าวปายาส ไปถวายพระมหาเถรานุเถระ”
ถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ก็ได้สืบประเพณีพระราชพิธีสารทมาจัดทำ เช่น ในรัชกาลที่ 1 มีพระราชพิธีสารทกวนข้าวทิพย์ รัชกาลต่อมาได้ทำบ้างงดบ้าง จนถึงปีพุทธศักราช 2470 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีสารท

อ่านเรื่องวันสารทไทยต่อได้ที่ วันสารทไทย เว็บ todayth.com